โรคขนคุด (Keratosis Pilaris)
โรคขนคุดเป็นภาวะผิวหนังแบบหนึ่งซึ่งจะเห็นกันอยู่ว่าเป็นลักษณะกลุ่มแดง ๆ มักจะเกิดบริเวณของต้นแขนต้นขา เมื่อเราลูบคลำบริเวณที่เกิดขนคุดนั้นก็จะรู้สึกหยาบ ไม่ค่อยสบายแขนสบายตัว ภาวะขนคุดนี้ในทางการแพทย์ (พุทธศักราข 2560) ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีสาเหตุมาจากอะไร
ถึงแม้เราจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดขนคุด แต่เราสามารถสังเกตุลักษณะอาการได้จากจุดตุ่ม ๆ ที่เกิดจากขี้ไคลของเราที่เรียกว่า Hyperkeratinization ที่มีลักษณะเป็นขี้ไคลมาอุดที่รูขุมขน ซึ่งในบางครั้งก็จะเกิดอาการอักเสบขึ้นมาหรือบางรายจะมีการคัน
การรักษาโรคขนคุด
การรักษาขนคุดนั้นขึ้นอยู่กับอาการและลักษณะของการคุด ซึ่งอาการขนคุดบางประเภทก็สามารถรักษาได้ง่าย ๆ เพียงแค่การทาครีมบางประเภท บางประเภทก็จำเป็นต้องใช้เลเซอร์ในการรักษา
การรักษาโดยใช้กรดอ่อน
ในครีมหลาย ๆ ตัวที่ใช้สำหรับการกำจัดขนคุดก็จะมีการผสมกรดอ่อนในกลุ่ม BHA (Beta Hydroxy Acid) ลงไป โดย BHA จะทำให้ชั้นหยาบหลุดออกไป
ในกรณีที่เกิดการอักเสบจากขนคุดหรือมีการลอกขึ้นมา ในทางการแพทย์จะใช้สารกลุ่มสเตียรอยด์ในการรักษา
ขนอ่อนที่ขึ้นอยู่ใต้ผิวหนัง (Rudimentary Hair)
ในรูขุมขนเราจะพบว่าอาจจะมีขนเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ภายในตุ่มขึ้นมา แต่เป็นขนที่เกิดขึ้นไม่เต็มที่จะเรียกว่า Rudimentary Hair ซึ่งขนนี้จะไม่โผล่เหนือชั้นผิวหนัง โดยในกรณีนี้จะมีการใช้เลเซอร์ในการรักษาร่วมด้วยเพื่อให้ขนใต้ชั้นผิวหนังนี้สลายไป
การรักษาด้วยเลเซอร์จะเว้นระยะการรักษาเดือนละ 1 ครั้ง โดยจะมีการรักษาประมาณ 3 – 4 ครั้งก็จะทำให้อาการขนคุดนี้ดีขึ้น
การปรับการอาบน้ำ
วิธีการอาบน้ำก็มีส่วนสำคัญ เพราะในบางคนที่เกิดภาวะขนคุดพอเห็นว่าผิวหยาบอาจจะเลือกใช้สครับในการขัดให้ผิวเรียบ ต้องห้ามเลยนะคะเพราะการขัดจะทำให้เกิดการอักเสบและอาการขนคุดแย่ลง คุณหมอแนะนำให้เราใช้สบู่อ่อน ๆ ทั่วไปทาครีมตามคำแนะนำของแพทย์เท่านี้ก็จะทำให้อาการขนคุดดีขึ้นแล้วค่ะ
ผลการรักษาขนคุด
เนื่องจากว่าขนคุดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับบางคนและยังไม่ทราบต้นเหตุของการเกิดที่แน่ชัด ทำให้การรักษาที่มีในปัจจุบันยังเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ทำให้ผู้ที่รับการรักษาหายไปแล้วก็จะมีโอกาสที่ภาวะขนคุดนี้จะกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งได้