โรคต่อมหมวกไตอ่อนล้า (Adrenal Fatigue)

คุณผู้รักสุขภาพมีอาการ เหนื่อย หงุดหงิด อ่อนล้า ไม่อยากตื่นในเวลาเช้า อารมณ์แปรปรวน คิดอะไรไม่ออก สมองตื้อตลอดเวลา หรือในบางคนอาจร้ายแรงถึงขั้นซึมเศร้า ซึ่งนี่อาจจะเป็นอาการของโรคต่อมหมวกไตอ่อนล้า

แต่ถ้าอาการเหนื่อย หงุดหงิด อ่อนล้า ไม่อยากตื่นในเวลาเช้า อารมณ์แปรปรวน คิดอะไรไม่ออก หรืออื่น ๆ เกิดขึ้นหลังจากที่เรานอนดึกในคืนที่ผ่านมา ดื่มเยอะไป หรือการใช้ร่างกายในการทำงานหนักระยะสั้น ให้เรารีบแก้ไขนะคะ จะยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาว

แต่หากการทำงานของเรา (รวมถึงการใช้ชีวิต) ที่ทำให้เราต้องมีอาการต่าง ๆ ที่ว่ามาอยู่เป็นประจำ เราอาจจะมีอาการของโรค “ต่อมหมวกไตอ่อนล้า”

ไตของเราที่มีลักษณะคล้ายกับถั่วแดง ซึ่งต่อมหมวกไตจะอยู่บริเวณด้านบนของไตอีกทีค่ะ โดยต่อมหมวกไตมีหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างฮอร์โมนต่าง ๆ อย่างเช่น

ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisal)

ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisal) หรือเป็นที่รู้จักกันในเรื่องการเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด แต่ถึงแม้จะเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดแต่ก็มีความสำคัญเพราะว่าฮอร์โมนนี้จะทำให้เราสามารถรับมือกับความเครียดได้ดี เป็นฮอร์โมนที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เรามีแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ

ฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน (Aldosterone)

ฮอร์โมนอัลโดสเตอโรนนี้จะทำหน้าที่ควบคุมของเหลวในร่างกายอย่างโพแทสเซียมและโซเดียม ซึ่งจะมีผลโดยตรงกับความดันโลหิต ซึ่งระดับความดันโลหิตที่ไม่ปกติจะทำให้การทำงานของร่างกายเราไม่ปกติ

ฮอร์โมน DHEA (Dehydroepiandosterone)

DHEA เป็นฮอร์โมนตั้งต้นของฮอร์โมนเพศทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย และจะมีบทบาทเกี่ยวกับเรื่องของการเผาผลาญ การสร้างกล้ามเนื้อ รวมถึงการสะสมไขมัน

การดูแลรักษาต่อมหมวกไต

การดูแลรักษาต่อมหมวกไตก็เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมากนะคะ เพียงเราจัดการความเครียดของเราให้ได้ ซึ่งเราสามารถลดความเครียดได้โดยการหาเวลาทำกิจกรรมที่เราชอบ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร วาดรูป ร้องเพลง หรือกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายเพราะสามารถช่วยบำบัดจิตใจของเราไม่ให้เครียดได้

จัดการความเครียด

การท่องเที่ยว การไปยังสถานที่ใหม่ ๆ หรือการสร้างแรงบรรดาลใจให้กับตัวเอง ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถลดความเครียดให้กับเราได้

การทำสมาธิไม่ว่าตามแบบแผนปฏิบัติไหนก็สามารถช่วยลดความเครียดได้รวมถึงยังสามารถเพิ่มระดับออกซิเจนในกระแสเลือดของเราด้วย

พยายามปรับเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือที่ทำงานของเรา

ไม่ควรนอนดึก

ช่วงเวลาที่เรานอนหลับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญนะคะ ดึกที่สุดคือเราควรนอนให้หลับก่อนเที่ยวคืน ดีที่สุดและได้ประโยชน์มากที่สุดจากการนอนคือเราต้องนอนให้หลับก่อนสี่ทุ่มเพื่อให้ร่างกายของเราได้หลั่งสารที่เป็นประโยชน์กับร่างกายของเราออกมา

ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เราออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นโยคะ พีราทิส หรือการออกกำลังกายที่เราชื่นชอบอื่น ๆ

อาหาร

อาหารเป็นสิ่งที่กำหนดหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเราได้เลยนะคะ สิ่งที่เรารับประทานเข้าไปจึงสำคัญมาก และมื้อเช้าก็เป็นมื้อที่สำคัญมากเช่นกันค่ะ เพราะว่ามื้อเช้าเป็นมื้อที่สามารถสร้างความกระตือรือร้นในกิจกรรมต่าง ๆ ของวันได้เลยค่ะ โดยเราควรรับประทานอาหารเช้าก่อนเวลา 10:00 นาฬิกา และควรเลือกรับประทานอาหารที่มีดัชนีความหวานต่ำด้วยนะคะ


หากนำวิธีการเหล่านี้ประกอบการใช้ชีวิตแล้วนกเชื่อว่าก็จะลดความเสี่ยงของโรคยอดฮิตที่เกิดจากวิถีการใช้ชีวิตสังคมคนเมืองในปัจจุบันนี้เยอะมากเลยค่ะ แวะมาคุยเรื่องสุขภาพกับนกได้ที่แฟนเพจ Facebook: Health Society by Nok Chalida ที่อินสตาแกรม NokHealthSo หรือ Line Official: @HealthSocieity นะคะ และอย่าลืม Subscribe รายการ Health Society by Nok Chalida ทาง YouTube นะคะ

นางสาวไทยปี 2541 จบปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์การชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รวมถึงสอบผ่านมาตรฐานผู้มีวิชาชีพด้านสุขภาพวิทยาศาสตร์ชะลอวัยจาก American Board Anti-Aging Health Practitioner สถาบัน A4M และปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาเอกด้าน Anti Aging and Regenerative Science ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ติดตามความเห็น
รูปแบบการแจ้งเตือน
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments