ไหล่ห่อคอตก (Text Neck Syndrome)
ปฏิเสธไม่ได้เลยนะคะว่าในวันนี้แทบทุกช่วงอายุของหลายคนใช้เวลากับการจ้องจอสมาร์ทโฟนขนาดเล็กอยู่บ่อยมากในแต่ละวัน ซึ่งสำหรับคนที่มีท่าทางในการจ้องจอสมาร์ทโฟนไม่ถูกต้องก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรค “ไหล่ห่อคอตก” (Text Neck) จากการใช้งานสมาร์ทโฟนได้ ซึ่งอาการ “ไหล่ห่อคอตก” นี้สามารถสร้างความเจ็บปวดให้เรามีอาการแย่ได้มากกว่า Office Syndrome เลยนะคะ

Office Syndrome เป็นอาการที่จะเกิดขึ้นกับคนที่นั่งทำงานนาน ๆ มีการปวดเมื่อยและมีปัญหาตรงข้อมือ แต่ในอาการของ Text Neck Syndrome จากการใช้สมาร์ทโฟนจะมีผลกับกระดูกคอที่ยื่นออก ทำให้บางทีมีอาการปวดบ่า ปวดคอ แบบไม่ทราบสาเหตุ

ในบางกรณีของอาการ Text Neck Syndrome สำหรับบางคนอาจเข้าขั้นติดสมาร์ทโฟนได้เลยนะคะ อย่างในบางวันที่ไม่มีสมาร์ทโฟนให้ใช้งานก็จะเกิดอาการนอย อาการกังวล หรืออื่น ๆ ขึ้นมาได้ในบางคน หรือชื่อที่เป็นทางการคือ “No mobile phone phobia”
ความเสี่ยงในการเกิด Text Neck Syndrome
โรค “ไหล่ห่อคอตก” หรือ “Text Neck Syndrome” มีการศึกษาสาเหตุการเกิดชัดเจน ซึ่งการใช้งานสมาร์ทโฟนมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากเราจะเผลอกดองศาคอลงมาที่ประมาณ 60 องศาเพื่อจ้องมองจอสมาร์ทโฟน ทำให้คอของเราต้องรับน้ำหนักหัวมากขึ้นถึง 6 เท่าหรือประมาณ 25 – 30 กิโลกรัม

เมื่อคอและส่วนเชื่อมต่อของเราต้องรับน้ำหนักมากขนาดนั้น ก็จะมีอาการปวดหัว ปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ รวมถึงอาการนิ้วมืออ่อนปรงก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกันค่ะ มีความเสี่ยงกับเรื่องความดันในหมอนรองกระดูกของเรามากดทับไขสันหลังจนเกิดการเคลื่อนหรือแตกได้เลยนะคะ
วิธีหลีกเลี่ยงการเกิด Text Neck Syndrome เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้สมาร์ทโฟน
ในยุคปัจจุบันที่จำเป็นต้องมีการรับรู้ข่าวสารฉับไวอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะจำกัดการใช้งานสมาร์ทโฟนของเราหรืองดใช้งานไปเลย แต่เราสามารถเปลี่ยนวิธีการใช้งานเพื่อให้ร่างกายของเรารับภาระน้อยลงเพื่อให้อาการ “ไหล่ห่อคอตก” หรือ Text Neck Syndrome มีโอกาสเกิดขึ้นกับเราน้อยที่สุด
ลดองศาในการก้มลงเหลือประมาณ 15 องศา
ยิ่งองศาในการก้มของเราน้อยลงเท่าไหร่ การรับน้ำหนักหัวของคอเราก็จะต่ำลงเท่านั้นนะคะ อย่างปกติถ้าเราก้ม 60 องศา คอของเราจะรับน้ำหนักประมาณ 25 – 30 กิโลกรัม ในขณะที่ถ้าเราตั้งหัวตรงคอจะรับน้ำหนักเพียง 5 กิโลกรัม

ถ้าเราลดองศาการก้มมองสมาร์ทโฟนเหลือประมาณ 15 องศา คอของเราก็จะรับหน้ำหนักหัวอยู่ที่ประมาณ 12 กิโลกรัม ซึ่งน้อยกว่าการก้มปกติเกินครึ่งกันเลยค่ะ แต่ถึงเราจะก้มมองสมาร์ทโฟนแค่ 15 องศาแต่ก็ไม่ควรก้มมองนานเช่นกันนะคะ
พักสายตาทุก ๆ 15 นาที
เราควรจะพักสายตาทุก ๆ 15 นาทีทั้งการใช้งานสมาร์ทโฟนหรือจอคอมพิวเตอร์ค่ะ สำหรับการใช้งานสามาร์ทโฟนเมื่อเราพักสายตาแล้วก็ให้คอของเรากลับมาอยู่ในแนวตั้งตรงด้วยนะคะ นอกจากอาการ Text Neck Syndrome แล้ว การพักสายตายังช่วยถนอมดวงตาของเราจากรังสีของจอภาพด้วยค่ะ
ออกกำลังกายบริเวณคอและไหล่
หากเรายังจำเป็นต้องก้มหน้าเพื่ออัปเดตเรื่องราวต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ผ่านจอสมาร์ทโฟนแล้ว การบริหารร่างกายบริเวณคอและไหล่ของเราก็จำเป็นเช่นกันค่ะ ซึ่งนกจะมานำเสนอท่าออกกำลังกายแบบง่าย ๆ เพื่อบริหารคอและไหล่กันค่ะ
ท่าแรกเริ่มจากการยืนตรงแล้วยกแขนพับขึ้นตั้งฉากเหมือนรูปแรก จากนั้นกดแขนลงเหมือนรูปที่สองสลับขึ้นลงแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ค่ะ เซตละ 15 ครั้ง โดยจะทำกี่เซตก็ได้นะคะ
อีกหนึ่งท่าบริหารคอและไหล่มีชื่อเรียกกันง่าย ๆ ว่า “ท่าถอดเสื้อ” ซึ่งนกไม่แน่ใจว่าจะอธิบายท่าทางด้วยการพิมพ์ว่าอย่างไร เป็นการเลียนแบบท่าในการถอดเสื้อเรียงลำดับตามวิดีโอเลยนะคะ
ท่าสุดท้ายนกขอเรียกมันว่า “ท่าพายเรือ” นะคะ เริ่มจากการปล่อยแขนและงอข้อศอกให้มือตั้งฉากชี้ไปด้านหน้า จากนั้นยืดแขนพุ่งตรงออกไปด้านหน้าเลยค่ะ และวาดกางแขนออกด้านข้างแล้ววนกลับมาให้แขนตั้งฉากข้างลำตัวของเราอีกครั้งเรื่อยไปประมาณ 15 นาทีนะคะ
โรคซึมเศร้าเกี่ยวอะไรกับ Text Neck Syndrome
หลังจากเราเข้าสู่ยุคสังคมก้มหน้าอย่างในปัจจุบัน เราก็จะเห็นผลจากการคุกคามของโรคซึมเศร้ากันมากขึ้นในสื่อหลาย ๆ ช่องทาง โดยเราจะสามารถบอกได้ว่าเราเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ก่อนนะคะ เพราะหลาย ๆ กรณีเราก็ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าค่ะ แต่หากเรามีอาการ 9 ประการต่อไปนี้ ให้เราเข้าตรวจกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาทางแก้ไขกันค่ะ เพราะเรามีโอกาสจะเป็นโรคซึมเศร้าค่ะ
มีอารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิด หรือก้าวร้าว

ขาดความสนใจในสิ่งรอบข้าง

ไม่มีสมาธิ ใจลอย ลังเล

อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง

เชื่องช้าหรือกระวนกระวายอยู่ไม่เป็นสุข

นอนไม่หลับ

เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมากกว่าปกติ

รู้สึกตนเองไร้ค่า

คิดอยากตาย

ถ้าหากใครมีอาการ 9 ข้อนี้หรือมี 2 ข้อที่เกิดติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ควรที่จะต้องพบจิตแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการว่าเรามีความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ และไม่ต้องกลัวนะคะว่าการไปพบจิแพทย์จะหมายถึงการเป็นคนโรคจิต เพราะว่าจิตแพทย์สามารถช่วยเหลือเราได้หลายด้านมากเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นด้านปัญหาชีวิตคู่ ชีวิตรัก ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มาปรึกษาจิตแพทย์เช่นกัน