อาถรรพ์รัก 7 ปีมีที่มาจากอะไร (Seven-year itch)
ก่อนอื่นเรามารู้จักที่มาของคำว่า “Seven-year itch” กันก่อนนะคะ โดยอาจารย์นายแพทย์สมบูรณ์ รุ่งพรชัย อาจารย์พิเศษและวิทยากรโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง บอกเอาไว้ว่า “Seven-Year Itch” เดิมเป็นโรคผิวหนังที่รักษายากมาก หากเป็นแล้วจะใช้เวลารักษาในการรักษาให้หายประมาณ 7 ปี แต่เมื่อถึงประมาณปีพุทธศักราช 2498 มีภาพยนต์เรื่อง “The seven-year itch” ที่นำแสดงโดยมาริลิน มอนโร (Marilyn Monroe) ซึ่งในสมัยนั้นก็ต้องบอกว่าเป็นภาพยนต์ที่ดังมาก ๆ เลยค่ะ ทำให้เกิดการนิยามศัพท์คำนี้ขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับชีวิตคู่สมรสที่อยู่กันเกิน 7 ปี อาจจะต้องมีเรื่องให้ต้องระวัง
ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อถึงช่วง seven-year itch
เมื่อการใช้ชีวิตคู่ของเรามีระยะเวลาที่มากขึ้น หลายหลายคู่อาจจะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์เข้ามา และในบทความนี้เรามาลองทำความรู้จักกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกันสัก 5 เรื่องอย่างเรื่องบนเตียง เรื่องลูก เรื่องเวลา เรื่องคนรอบตัว และเรื่องเงินกันค่ะ
เรื่องในห้องนอน
เรื่องในห้องนอนหรือเรื่องความสุขทางเพศระหว่างผู้หญิงและผู้ชายจะมีความแตกต่างกัน โดยความต้องการของผู้ชายเกินกว่า 50% มาจากความต้องการทางร่างกาย

ส่วนความต้องการของผู้หญิงจะมีความต้องการทางร่างกายและความต้องการทางจิตใจอย่างละครึ่ง ซึ่งการใช้ชีวิตคู่จะต้องมีการปรับตัวเข้าหากันค่ะ คุณผู้ชายอาจจะต้องเข้าใจความต้องการของคุณผู้หญิง ส่วนในแง่ของคุณผู้หญิงก็อาจจะต้องเข้าใจความต้องการของคุณผู้ชายบ้างเช่นกันค่ะ
ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับลูก
หลายครั้งที่ความเห็นเรื่องลูกระหว่างคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายต่างกัน แล้วเกิดความรู้สึกขัดแย้งกระทั้งอาจจะทำให้เกิดการทะเลาะกันได้ หากไม่มีการจัดการความขัดแย้งนั้นอาจจะเกิดความรุนแรงถึงขั้นเกิดรอยร้าวขึ้นในความสัมพันธ์

ปัญหาเรื่องเวลา
ปัญหาในเรื่องของเวลานี้ถึงแม้จะยังไม่ใช่คู่ที่แต่งงานแล้วก็สร้างปัญหาให้กับหลายคู่เลยค่ะ ยิ่งในช่วงเวลาปัจจุบันที่สังคมมีการแข่งขันในหน้าที่การงานและเรื่องอื่น ๆ กันสูงมากกระทั่งหลาย ๆ คู่ลืมไปว่าชีวิตคู่ก็สำคัญไม่แพ้กัน
ปัญหาของคนรอบตัวหรือญาติพี่น้อง
เรื่องของญาติพี่น้องอาจจะทำให้หลาย ๆ คู่เกิดปัญหาได้ ทั้งเรื่องการไม่ชอบในอีกฝ่าย การเข้ากันไม่ได้ ซึ่งอาจจะลามไปถึงปัญหาเรื่องการเงินภายในครอบครัวด้วยจากการช่วยเหลือญาติพี่น้อง

หากเกิดปัญหานี้ขึ้นเราอาจจะต้องแยกแยะฐานะและพื้นที่ของเราให้ชัดเจน เช่นเมื่ออยู่กับพ่อหรือแม่เราจะอยู่ในฐานะลูก โดยการตอบแทนพ่อแม่ในขอบเขตของลูกเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และลูกทุกคนต้องทำ ส่วนเรืองคู่ชีวิตก็คืออีกหนึ่งครอบครัวที่จะอยู่กับเราในช่วงชีวิตสุดท้าย เราอาจจะต้องเริ่มต้นด้วยการแยกความเป็น 2 ครอบครัวนี้ออกจากกันก่อนและเมื่อมีจังหวะที่สามารถเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง 2 ครอบครัวได้ก็ค่อย ๆ สานสัมพันธ์ค่ะ แต่หากไม่มีโอกาสเลยก็พยายามทุ่มเทให้กับสองครอบครัวนะคะ นกขอเป็นกำลังใจให้
ปัญหาเรื่องเงิน
ปัญหาเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องปัญหาทางการเงินที่มีมากหรือน้อยเท่านั้น อาจเป็นเรื่องทัศนคติทางการเงิน อย่างเช่นฝ่ายหนึ่งชอบเก็บเงินกับอีกฝ่ายมีการใช้จ่ายเงินมากกว่าก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่การมีชีวิตคู่จะต้องทำความเข้าใจกันให้ได้นะคะ

นกหวังข้อมูลในบทความนี้จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่สามารถช่วยให้ชีวิตของหลาย ๆ คู่อยู่ยืนยาวมาก ๆ อย่างมีความสุขนะคะ