ห่อหมกปลาช่อนใบยอสูตรต้านอักเสบ

ห่อหมกปลาช่อนใบยอเป็น 1 ใน 4 เมนูจากงานวิจัยของคณาจารย์ชั้นนำหลายท่านรวมถึงนกเองก็ใช้เมนูห่อหมกปลาช่อนใบยอนี้มาปรับแต่งส่วนผสมบางอย่างเพื่อให้ความสามารถในการต้านอักเสบของเมนูนี้สูงมากขึ้น

คาร์โบไฮเดรต 0 กรัม
โปรตีน 15 กรัม
ไขมัน 11 กรัม
ไฟเบอร์ 6 กรัม
พลังงาน 316 กิโลแคลอรี

วัตถุดิบในการทำห่อหมกปลาช่อนใบยอสูตรต้านอักเสบ

ปริมาณวัตถุดิบนี้เป็นการทำสำหรับรับประทาน 10 คนนะคะ หากต้องการรับประทานกันคนเดียวให้ลดสัดส่วนวัตถุดิบไปตามจำนวนคนที่จะรับประทานหรือแบ่งรับประทานในหลายมื้อค่ะ

ปลาช่อนนา (เนื้อล้วน) ครึ่งกิโลกรัม
ใบยอดิบเอาส่วนใบอ่อนๆ 2-3 ขีด
ใบมะกรูดหั่นฝอย 6-7 ใบ
หัวกะทิ 200 กรัม
หางกระทิ 80 กรัม
ใข่ไก่ 2 ฟอง
พริกแกงเผ็ด 3 ขีด
กระทงใบตอง

วัตถุดิบในเมนูห่อหมกปลาช่อนใบยอที่มีคุณสมบัติในการต้านอักเสบครั้งนี้ก็มี ใบมะกรูด ไข่ไก่ ปลาช่อน และวัตถุดิบที่ทำเป็นพริกแกงค่ะ ซึ่งนอกจากนี้เรายังได้โอเมกา 3 (Omega-3) จากปลาช่อนนาซึ่งเป็นปลาไทยที่ติดอับดับ 1 ใน 4 ปลาที่มีโอเมกา-3 สูงจากงานวิจัยของอาจารย์รองศาสตราจารย์ดอกเตอร์ครรชิต จุดประสงค์ (ข้อมูลปีพุทธศักราช 2560) ประจำสถาบันโภชณาการมหาวิทยาลัยมหิดลด้วยค่ะ

ขั้นตอนการทำห่อหมกประช่อนใบยอ

ก่อนอื่นเรามากำจัดกลิ่นคาวของเนื้อปลาช่อนกันก่อนด้วยการล้างน้ำเกลือแล้วผึ่งเนื้อปลาไว้สักพักให้แห้งก่อนนำมาใส่โถผสมเพื่อผสมวัตถุดิบต่าง ๆ สำหรับทำห่อหมก

ขั้นตอนการผสมวัตถุดิบนี้จะต้องใช้แรงเยอะมากเลยนะคะเพื่อโขลกให้เนื้อปลาและส่วนผสมต่าง ๆ เข้ากัน ซึ่งวิธีที่น่าจะทำให้วัตถุดิบต่าง ๆ เข้ากันได้ดีมาก ๆ ก็น่าจะเป็นการใช้มือนี่ล่ะค่ะขย้ำเนื้อปลาช่อนนาและส่วนผสมอื่น ๆ

ในระหว่างการคลุกเค้าก็ให้คอยเติมน้ำลงไปได้เล็กน้อยเพื่อให้เราผสมวัตถุดิบได้ง่ายขึ้น

หลังจากเตรียมส่วนผสมเรียบร้อยแล้วก็แบ่งตักใส่่กระทงใบตองที่เตรียมไว้หรือจะห่อหมกแบบที่ใช้ใบตองห่อทั้งหมดก็ได้เลยค่ะ โดยส่วนผสมทั้งหมดนี้สามารถแบ่งได้ทั้งหมด 10 ทงค่ะ

จากนั้นนำห่อหมกปลาช่อนใบยอของเราไปนี่งให้สุก โดยใช้เวลาประมาณ 20 ที

การจัดจานรับประทานเพื่อการต้านอักเสบที่มีประสิทธิภาพ

ใน 1 เสิร์ฟเราจะทำการรับประทานกับข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสีอย่างข้าวกล้องหรือข้าวไรซ์เบอร์รี่ 2 ทัพพีและมีกะหล่ำลวกอีก 1 ถ้วยตวงเพิ่มเข้ามาค่ะ


การรับประทานอาหารไทยแพลนต์เบสให้เห็นความเปลี่ยนแปลงและความสามารถในภาวะอักเสบเรื้อรังที่เกิดขึ้นในร่างกายนั้นจะต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องทุกวันเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ซึ่งในระหว่างนั้นจะต้องงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนย นม ผลิตภัณฑ์จากนม สีผสมอาหาร กลูเต็น ผักโตในที่ร่ม เกลือ น้ำตาล สารให้ความหวานอื่น ๆ ไขมันทรานส์ รวมถึง ข้าวที่ผ่านการขัดสี ข้าวสวยก็ควรหลีกเลี่ยงนะคะ

นอกจากการรับประทานอาหารไทยแพลนต์เบสต้านอักเสบแล้ว เพื่อนการมีสุขภาพที่ดีเรายังต้องพยายามปรับเวลานอนให้หลับก่อนสี่ทุ่มของทุกวันให้ได้ ออกกำลังกายอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ (อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที) และดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งวิธีการดื่มน้ำให้เพียงกับร่างกายของเราง่าย ๆ จะใช้น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) คูณด้วย 30 ก็จะได้ปริมาณน้ำเป็นมิลลิลิตรที่เราควรจะดื่มใน 1 วัน อย่างเช่นนกหนัก 50 กิโลกรัมก็จะดื่มน้ำ 50 x 30 = 1,500 มิลลิลิตร หรือ 1.5 ลิตร ซึ่งการดื่มน้ำให้เราค่อย ๆ ดื่มตลอดทั้งวัน อย่ารอให้กระหายน้ำก่อนค่อยดื่มนะคะ เพราะถ้าเรารู้สึกกระหายน้ำแสดงว่าร่างกายของเราขาดน้ำไปแล้ว

หากใครต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นตัวเลขจากการวัดที่เชื่อถือได้ นกแนะนำให้ตรวจร่างกายเพื่อวัด hs-CRP และสัดส่วนไขมัน HDL/LDL ที่โรงพยาบาลก่อนการรับประทานอาหารไทยแพลนต์เบสอย่างจริงจัง และหลังจากเรารับประทานอาหารไทยแพลนต์เบสครบ 12 สัปดาห์อย่างเคร่งครัดกันแล้วเรามาวัคค่า hs-CRP และ HDL/LDL กันอีกที

นางสาวไทยปี 2541 จบปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์การชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รวมถึงสอบผ่านมาตรฐานผู้มีวิชาชีพด้านสุขภาพวิทยาศาสตร์ชะลอวัยจาก American Board Anti-Aging Health Practitioner สถาบัน A4M และปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาเอกด้าน Anti Aging and Regenerative Science ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ติดตามความเห็น
รูปแบบการแจ้งเตือน
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments