โรคอันตรายคนอยากผอม
ถ้าพูดถึงค่านิยมเกี่ยวกับรูปร่างของผู้หญิง คือ “ผอม” ยิ่งเห็นดารา นางแบบ ตามสื่อต่าง ๆ ที่มีรูปร่างสวย หุ่นดี หน้าท้องแบนราบ ยิ่งทำให้อยากมีรูปร่างแบบนั้นบ้าง แต่สำหรับบางคนอาจมีวิธีที่ผิด ๆ จนกลายเป็นสาเหตุของโรคกลัวอ้วน หรือที่เรียกว่าบูลิเมียและอนอเร็กเซีย สองโรคอันตรายของคนอยากผอม ขอบคุณข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
คนอยากผอม มีหลายประเภท กลุ่มหนึ่ง อยากผอมเนื่องจากมีความจำเป็นทางอาชีพ เช่นดาราหรือนางแบบ ที่ต้องการคนที่รูปร่างผอมบาง เพื่อเวลาเข้ากล้องจะได้ไม่ดูอวบอิ่มมากเกินไป กลุ่มที่ 2 เป็นพวกอยากมีรูปร่างตามแฟชั่นและค่านิยมของสังคม คือตามกลุ่มที่ 1 อีกที ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง วัยรุ่น และกลุ่มที่ 3 ซึ่งอาการอยากผอมรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นโรค เพราะการรับรู้ต่อรูปร่างของตนผิดปกติไป ผอมอย่างไรก็ยังรู้สึกว่าตัวเองอ้วน และต้องการลดน้ำหนักลงไปอีก กลุ่มสุดท้ายนี้ อาจเป็นอันตรายจากการขาดอาหารถึงเสียชีวิตได้
โรคอันตรายของคนอยากผอม
คนอยากผอมจะพยายามระวังอาหารของตัวเองอย่างมาก นับพลังงานและแคลอรี่ที่ทานเข้าไปตลอดเวลา และบางคนจะพยายามออกกำลังอย่างหนัก เพื่อเผาผลาญพลังงานที่ทานเข้าไป บางคนจะพยายามแสวงหายาลดน้ำหนักมาทาน เมื่อไปตรวจที่โรงพยาบาล แพทย์มักไม่ให้ยาลดน้ำหนักเนื่องจากยังไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ คนกลุ่มนี้จึงมักไปพยายามหาซื้อยากินเอง ทำให้มีผลข้างเคียงจากยาได้มาก

เมื่อหยุดทานยา คนกลุ่มนี้จะมีน้ำหนักตัวจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความวิตกกังวล และต้องกลับไปใช้ยาอีก วันนี้เราจะมาคุยกันถึงกลุ่มที่ 3 กันนะคะคือ “โรคอันตรายของคนอยากผอม“
บูลิเมีย เนอร์โวซา (Bulimia Nervosa)
ประวัติศาสตร์การแพทย์มีการค้นพบโรคนี้ครั้งแรก ในกลุ่มของนักบัลเล่ต์ เมื่อคริสตศตวรรษที่ 15 แต่ปัจจุบันโรคนี้แพร่หลายในกลุ่มผู้หญิงรักสวยรักงาม โดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งบูลิเมีย เป็นความผิดปกติของพฤติกรรมการกิน โดยจะทานอาหารวันละหลาย ๆ ครั้ง ครั้งละมาก ๆ จนคนอื่น เห็นแล้วตกใจ ซึ่งผู้กินเองก็ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการกินของตนได้ เมื่อทานเสร็จแล้วจะมีความรู้สึกผิดอย่างมาก ไม่สบายใจที่ทานอาหารมากมายเข้าไป ทำให้ต้องหาทางกำจัดอาหารเหล่านั้นออกมา ด้วยการล้วงคออาเจียน หรือใช้ยา เช่น ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ ยาสวนทวาร บางคนชดเชยด้วยการออกกำลังกายอย่างหักโหมติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 5-6 ชั่วโมง บางคนก็อดอาหารไปเลย 3 วัน
อาการของบูลิเมีย ก่อให้เกิดอันตรายทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น เครียดกังวล ซึมเศร้า จากการล้วงคออาเจียน ทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร เหงือกอักเสบและมีกลิ่นปาก ไตอาจเสียหาย มีนิ่วไต จากการขาดน้ำมากเกินไป ความดันโลหิตต่ำ ประจำเดือนไม่มา หัวใจผิดปกติ ใจสั่น จากการเสียสมดุลของเกลือแร่ ผิวหนังแห้ง ผมร่วง
อนอเร็กเซีย เนอโวซ่า (Anorexia Nervosa)
อนอเร็กเซีย เนอโวซ่า (Anorexia Nervosa) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “โรคคลั่งผอม” ผู้ป่วยจะมีปัญหาทางด้านจิตใจ มักรู้สึกว่าหากควบคุมการกินอาหารของตัวเองได้ ก็จะสามารถควบคุมชีวิตของตัวเองได้ ทำให้ร่างกายผ่ายผอมมากเนื่องจากพยายามลดอาหารและออกกำลังกายมากเกินไป
อาการของโรคอนอเร็กเซีย คือ ชอบชั่งน้ำหนักตัวบ่อย ๆ วิตกกังวลเรื่องน้ำหนักตัวเกินเหตุ เลือกกินมากขึ้น ชอบคะยั้นคะยอให้คนอื่นกินแทน กังวลและกลัวว่าน้ำหนักตัวเพิ่มทั้ง ๆที่ผอมมาก เคร่งครัดการนับแคลอรี่อาหาร น้ำหนักตัวลดลงอย่างฮวบฮาบ และหมกมุ่นอยู่กับการออกกำลังกายให้มากที่สุดแต่กินให้น้อยที่สุด จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รูปร่างผอมแห้ง ไม่มีกล้ามเนื้อและไขมัน ระบบต่าง ๆ ในร่างกาย แปรปรวน ประจำเดือนขาด นอนไม่หลับ จำนวนเม็ดเลือดผิดปกติ ผมบางและร่วง กระดูกเปราะ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
Female athlete triad
โรคที่สามคือโรค Female athlete triad เป็นผิดปกติทางการกินที่เกิดในนักกีฬาที่ต้องควบคุมน้ำหนักเป็นอาชีพ เช่น นักยิมนาสติก นักบัลเลต์นักกีฬาว่ายน้ำ นักกีฬาวิ่ง นักกีฬาสเก็ตน้ำแข็ง อาการที่บ่งชี้คือ การที่ประจำเดือนผิดปกติ มีอาการกระดูกพรุนและกระดูกอ่อน เป็นสามอาการเด่นชัดที่บ่งชี้โรคนี้ อาการอื่น ๆ ที่เป็นร่วมได้แก่ อาการผมร่วง มือเท้าเย็น ผิวแห้ง น้ำหนักลด แผลหายยาก กระดูกหักง่ายและอาจมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย เวลาที่ตรวจพบโรคนี้ผู้ป่วยมักมีอาการหัวใจเต้นช้า ความดันต่ำ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ และกล้ามเนื้อช่องความหด หากผู้ที่เป็นโรคนี้ไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีและปล่อยให้เป็นโรคนี้ต่อไปเรื่อย ๆ อาจมีผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นในอาชีพนักกีฬาเหล่านี้ ความสม่ำเสมอของประจำเดือนจึงเป็นเรื่องสำคัญ
การตรวจระดับฮอร์โมนเป็นประจำเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งเรื่องการขาดสารอาหารวิตามินแร่ธาตุจากการควบคุมอาหารเพื่อรักษาน้ำหนักให้ได้ตามที่ต้องการนั้นเป็นเรื่องที่ซีเรียสมากต่อความแข็งแรงของกระดูก แคลเซี่ยม แมกนีเซี่ยม และวิตามินดีล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสำคัญต่อกระดูกที่แข็งแรง และอายุของการสร้างและสะสมกระดูกของผู้หญิงนั้นก็อยู่ในช่วงวัยนี้ที่เป็นนักกีฬานี่แหละ ยิ่งถ้าประจำเดือนไม่ปกติด้วยแล้วการเจริญเติบโตมีโอกาสคลาดเคลื่อนเข้าไปใหญ่
ผู้มีความผิดปกติในการกินของทั้ง 3 โรคนี้ ทั้งบูลิเมีย อนอเร็กเซีย และ female athlete triad มักไม่ยอมรับว่าตัวเองมีปัญหา ไม่สนใจอาการที่เกิดขึ้นและมักพยายามหาทางปิดบังผู้อื่นเกี่ยวกับความผิดปกติของตน การรักษาด้วยตัวเองจึงไม่ได้ผล ต้องอาศัยบุคคลใกล้ชิดช่วยดูแลและสร้างแรงจูงใจ ดังนั้นเมื่อพบบุคคลใกล้ชิดที่มีแนวโน้มความผิดปกติเรื่องการกิน ควรรีบปรึกษาแพทย์อย่างเร่งด่วนค่ะ
คนที่มีไลฟสไตล์จำกัดการกินอาหารหมวดหมู่ใดหมวดหมู่หนึ่งเช่น มังสวิรัตก็ควรดูแลสุขภาพตนเองให้ได้สารอาหารครบครันเพื่อป้องกันโรคที่เกี่ยวกับอาหารการกินเหล่านี้ด้วยนะคะ โรคที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีรายละเอียดและความละเอียดอ่อนในการดูแลรักษาเป็นอย่างยิ่งนะคะ ชีวิตทุกคนมีคุณค่าและมีศักยภาพที่จะสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับโลกใบนี้ อย่าให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องติดอยู่ในบ่วงแห่งโรคที่เกี่ยวกับการถูกขังทางจิตและไม่สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสมเช่นนี้เลยค่ะ เสียดายชีวิตทั้งชีวิตที่สดใสของเขา และสิ่งที่เขาสามารถเป็นได้หากไม่มีโรคเหล่านี้ มันเป็นโรคที่ต้องใช้ความรักและความช่วยเหลือของคนที่แคร์มาก ๆ ค่ะ
แวะมาคุยเรื่องสุขภาพกับนกได้ที่แฟนเพจ Facebook: Health Society by Nok Chalida ที่อินสตาแกรม NokHealthSo หรือ Line Official: @HealthSocieity นะคะ และอย่าลืม Subscribe รายการ Health Society by Nok Chalida ทาง YouTube พร้อมชมรายชมรายการ “เฮลท์โซไซตี้” ด้วยกันนะคะ