ช่วงนี้คุณดูเหวี่ยงวีนไร้เหตุผลหรือเปล่า ?

     สวัสดีค่ะพบกับนกทุกอาทิตย์เช่นเคยนะคะ ในคอลัมน์ สุขภาพดีเข้าเส้น ในบทความนี้นกมาพร้อมคำถามค่ะ คุณผู้รักสุขภาพสังเกตุตนเองว่าช่วงที่ผ่านมานี้มีอาการอารมณ์แปรปรวน โมโห เหวี่ยง วีน แบบไร้เหตุผล กันหรือเปล่า คำถามนี้สำหรับทั้งชายและหญิงเลยนะคะ ถ้าคำตอบคือใช่และบ่อยด้วยแล้วล่ะก็ วันนี้ต้องมาเช็คกันหน่อยแล้วล่ะค่ะ ว่าคุณมีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไปมั้ย ถ้าสงสัยแล้วตรวจด้วยผลเลือดแล้วว่าระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงเกินไปแล้วจริง ๆ ก็อย่าเพิ่งตกใจมากไปค่ะ ถ้ามีมากเกินไป ควรจะทำไงดี วันนี้นกมีคำตอบมาให้ค่ะ

     ฮอร์โมนในร่างกายเราแต่ละตัวมีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่ละตัวมีบทบาทและหน้าที่ต่างกัน แต่จะทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ค เพื่อให้ร่างกายของเราอยู่ในสภาวะปกติ แต่ด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอก หรือภายในร่างกาย ที่ทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลของฮอร์โมน ภาวะไม่สมดุลของฮอร์โมนหมายถึง มีระดับที่สูงเกินไป หรือต่ำเกินไป ซึ่งไม่ว่าจะต่ำหรือสูง ล้วนทำให้เกิดอาการผิดปกติ หรือเสี่ยงต่อการเกิดโรคทั้งสิ้น

     วันนี้มาดูภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงหรือมากเกินไปกันค่ะว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร มีความเสี่ยงอะไร และสามารกำจัดออกจากร่างกายได้อย่างไรบ้างค่ะ

มาทำความรู้จักเอสโตรเจนและหน้าที่ของฮอร์โมนตัวนี้กันก่อนค่ะ

     “เอสโตรเจน” (Estrogen) คือ กลุ่มฮอร์โมนเพศที่พบได้ทั้งในเพศหญิงและในเพศชาย แต่จะมีปริมาณมากกว่ามากในเพศหญิง เพราะเป็นฮอร์โมนที่สามารถผลิตได้จากรังไข่โดยตรง มีหน้าที่ทำให้ร่างกายพัฒนาเจริญเติบโตพร้อมแสดงลักษณะเด่นของเพศหญิง

บทบาทของเอสโตรเจน

เอสโตรเจน” ช่วยทำให้ไข่ในรังไข่มีการเจริญเติบโต มีการควบคุมการตกไข่ ทำให้ประจำเดือนของผู้หญิงมาปกติ – ไม่ปกติ

เอสโตรเจน” ซ่อมแซมระบบสืบพันธุ์ รักษาสภาพผนังช่องคลอด ควบคุมเมือกในช่องคลอดเพื่อป้องกันการอักเสบ รวมถึงเตรียมพร้อมที่จะรับการฝังตัวของไข่

เอสโตรเจน” ทำให้ร่างกายสะสมไขมัน ช่วยให้ตับสร้างโปรตีน เพิ่มการสะสมแคลเซียมในกระดูก เร่งกระบวนเผาผลาญของร่างกาย

เอสโตรเจน” ช่วยในเรื่องความจำ ควบคุมการสร้างคลอเลสเตอรอล ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ป้องกันโรคกระดูกพรุน

มาดูสาเหตุและความเสี่ยงของการมีเอสโตรเจนในร่างกายมากเกินไป

     สำหรับสาเหตุของการที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเยอะนั้น พบว่าเกิดจากความผิดปกติของกรรมพันธุ์ และเชื่อว่า การได้รับสารพิษ สารเคมี ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก ที่ตกค้างและปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำดื่มที่เราทานไปทุก ๆ วันนั้น ส่งผลต่อการผลิตและสะสมของเอสโตรเจนที่มากผิดปกติ เมื่อมีภาวะเอสโตรเจนที่มากเกินไป จะส่งผลให้ร่างกาย เกิดอาการดังนี้ เช่น

  • ร่างกายสามารถสะสมไขมันได้ง่ายและมากขึ้น ส่งผลให้เป็นโรคอ้วนได้
  • เสี่ยงต่อการเกิดการสะสมไขมันในเส้นเลือด โดยเฉพาะเส้นเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง
  • อารมณ์แปรปรวนขึ้นๆ ลงๆ โกรธ เหวี่ยงวีน หงุดหงิดง่าย
  • เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่

แนวทางการรักษาภาวะเอสโตรเจนที่สูง

     เมื่อพบว่า มีภาวะเอสโตรเจนที่สูงเกินไป แพทย์มักจะให้ยาหรืออาหารเสริม ที่ช่วยในการปรับเอสโตรเจนให้อยู่ในภาวะสมดุล และแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารที่จะเข้าไปช่วยเพิ่มเอสโตรเจน เช่น ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง : เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ Tofu,น้ำมะพร้าว, แครอท, เมล็ดแฟลกซ์, ลูกพรุน, งา

     ดูเหมือนว่า อาหารเหล่านี้จะค่อนข้างมีประโยชน์ แต่ในกรณีที่ภาวะเอสโตรเจนสูงมาก ก็ควรหลีกเลี่ยงไปก่อน เพราะอาหารเหล่านี้เป็นไฟโตรเอสโตรเจน หรืออาหารที่มีเอสโตรเจนสูงนั่นเอง แต่ไม่ถึงกับห้ามว่าไม่ให้ทาน ทานได้บ้าง แต่ไม่ควรทานบ่อยจนเกินไป และรวมทั้งอาหารหวานๆหรือน้ำตาลสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

     ส่วนอาหารที่แนะนำให้ทาน เช่น พวกผักผลไม้ที่ช่วยขับเอสโตรเจนในร่างกายได้ เช่น บร๊อกโคลี่ กระหล่ำ กระหล่ำดอก บ๊อกชอย ผักเคล คะน้า เห็ด กรีนที องุ่นแดง ทับทิม เป็นต้น


     แวะมาคุยเรื่องสุขภาพกับนกได้ที่แฟนเพจ Facebook: Health Society by Nok Chalida ที่อินสตาแกรม NokHealthSo หรือ Line Official: @HealthSocieity นะคะ และอย่าลืม Subscribe รายการ Health Society by Nok Chalida ทาง YouTube พร้อมชมรายชมรายการ “เฮลท์โซไซตี้” ด้วยกันนะคะ

นางสาวไทยปี 2541 จบปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์การชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รวมถึงสอบผ่านมาตรฐานผู้มีวิชาชีพด้านสุขภาพวิทยาศาสตร์ชะลอวัยจาก American Board Anti-Aging Health Practitioner สถาบัน A4M และปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาเอกด้าน Anti Aging and Regenerative Science ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ติดตามความเห็น
รูปแบบการแจ้งเตือน
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments