ความสัมพันธ์ดีแบบไหน ? ที่ช่วยให้เรามีสุขภาพดี
ปัจจุบันเรามีวิธีที่จะดูแลตัวเองมากมาย แต่คุณผู้อ่านทราบมั้ยว่าการมีเพื่อนมาก หรือมีความสัมพันธ์ที่ดี ช่วยให้เราสุขภาพดีได้ เอนั่นหมายความว่า… คนที่สุขภาพแข็งแรงมาก ๆ นั้นเป็นเพราะเค้ามีเพื่อนเยอะมากหรือเปล่า? มาหาคำตอบไปด้วยกันในสุขภาพดีเข้าเส้น โดย นก ชลิดา เถาว์ชาลี ในตอนนี้ค่ะ ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก http://www.healthandtrend.com และ TED Ideas worth spreading ด้วยนะคะ
เรามีวิธีการดูแลสุขภาพที่หลากหลาย เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อนนอนหลับ แต่จะมีซักกี่คนที่ทราบว่าอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเรามีสุขภาพดี นั่นก็คือ “ความสัมพันธ์ดี” นั่นเอง โดยการศึกษาของนักจิตแพทย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบอกว่า คำตอบไม่ได้อยู่ในส่วนของชื่อเสียง เงินทองหรือว่าความสำเร็จในหน้าที่การงานแต่อย่างใด “ความสัมพันธ์ที่ดีต่างหาก ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สุขภาพดี ซึ่งในการศึกษานี้ไม่ได้กล่าวอ้างลอย ๆ แต่มีการทดลองมาอย่างยาวมากที่สุด ของคุณโรเบิร์ต วาลดิงเจอร์และคณะ ชื่อโครงการ Harvard Study of Adult Development ซึ่งอาจจะเป็นโครงการศึกษาชีวิตมนุษย์ ที่นานที่สุดเท่าที่เคยมีมา ศึกษายาวนานตลอด 75 ปี เป็นการศึกษาชีวิตของชาย 724 คน ถามพวกเขาเกี่ยวกับงาน ความเป็นอยู่ และสุขภาพ ปีแล้วปีเล่า และแน่นอนว่าพวกเขาถามคำถามโดยไม่รู้เลยว่า สุดท้ายแล้วชีวิตของพวกเขา จะเป็นอย่างไรโดยเริ่มตั้งแต่ปี 1930 หรือพ.ศ.2473 ของมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างฮาร์วาร์ด ที่แบ่งกลุ่มการศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ ⓵ คือ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย (ใน New York Times ได้บันทึกไว้ด้วยว่า 1 ในนักศึกษากลุ่มนี้มีท่านประธานาธิบดีอย่าง John F. Kennedy รวมอยู่ด้วย)
กลุ่มที่ ⓶ นั้นเป็นเด็กหนุ่มจากครอบครัวด้อยโอกาส และยากจนที่สุดในบอสตัน
ผลการตรวจสอบผ่านทั้งกระบวนการสแกนสมอง สัมภาษณ์ปัจจัยต่าง ๆ โดยรอบ รวมไปถึงครอบครัวของผู้เข้ารับการศึกษาทั้ง 2 กลุ่ม มีการตรวจเลือดและตรวจสุขภาพ ซึ่งผลที่ออกมานั้นสรุปได้ว่า…ความสุขและสุขภาพที่มีอยู่ทั้งหมดเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ทั้งนั้นเลยค่ะ โดยสรุปหัวข้อที่น่าสนใจ ดังนี้
① การชอบเข้าสังคมจะทำให้มีความสุขมากกว่า
คนที่รู้จักเข้าสังคม มักจะมีความสุขมากกว่า สุขภาพดีกว่าและอายุยืนกว่า มีผลการศึกษาในวารสารผู้สูงอายุของอเมริกา พบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 100 ปีส่วนใหญ่ที่ชอบเข้าสังคม จะมีอัตราเสี่ยงเป็นโรคประสาทน้อยกว่าคนที่ไม่ชอบเข้าสังคม คนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีส่วนใหญ่จะมีความมั่นคงทางอารมณ์มากกว่า สามารถรับมือและจัดการกับความเครียดได้ดีกว่าคนชอบเก็บเนื้อเก็บตัวไม่ยอมสุงสิงกับใคร
② จำนวนของความสัมพันธ์ไม่ส่งผลต่อความสุข
จำนวนของความสัมพันธ์ไม่ส่งผลต่อ “ความสุข” โดยรวม แต่เป็นความจริงใจต่อกันในการคบหาต่างหากที่สร้างผลพวงแห่งความสุขและสุขภาพที่ดีในการทดลอง เช่น การที่เรามีเพื่อน 10 คน แต่ไม่ได้มีความสนิทสนม ไม่ได้ใกล้ชิดกัน ก็ไม่ทำให้คุณมีความสุขเท่ากับคนที่มีเพื่อนสนิทจริงใจเพียง 2 คน ดังนั้นการที่เรามีเพื่อนทางโซเชี่ยลมากมายเป็นหมื่นเป็นแสน แต่ไม่ได้เป็นคนที่รู้จักตัวตนของเราจริง ๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับเราเลย ก็ไม่ได้เป็นการันตีสุขภาพที่ดีนะคะ ความสุขใจจากการมีเพื่อนที่คบกันจริง ๆ ที่มีการคบหา ใส่ใจ และจริงใจต่อกัน ดังนั้นคนที่ดูเหมือนมีเพื่อนมากมายแต่ไม่มีเพื่อนแบบจริงใจด้วยก็อาจจะเป็นคนที่เหงาและโดดเดี่ยวที่สุดในโลกก็เป็นได้ และแน่นอน มันจะมีผลต่อสุขภาพ ความอายุยืนของเธอและเขาคนนั้นค่ะ
③ ความขัดแย้งตลอดเวลาเลวร้ายกว่าการหย่าร้าง
คู่รักที่ขัดแย้งกันตลอดเวลานั้นเลวร้ายกว่าคู่ที่หย่าร้างกันให้รู้แล้วรู้รอดนะคะ “ความสัมพันธ์ที่ดี” ไม่ได้หมายความว่าไม่ทะเลาะกันเลย พวกเขาเห็นต่างได้ แต่ต้องรู้จักการตกลงร่วมกัน ผลัดกันให้และรับ เชื่อใจกัน เคารพซึ่งกันและกัน ชีวิตการสมรสในยุคปัจจุบันนี้ คู่สามีภรรยาส่วนใหญ่มีสิทธิที่จะเลือกทางชีวิตมากกว่าในสมัยก่อนที่ต้องทนเพื่อลูก เกียรติยศ ศักดิ์ศรี การได้รับความยอมรับในสังคม ฯลฯ หากผืนทนอยู่ด้วยกันแล้วไม่มีความสุขด้วยความแตกต่างที่ไม่สามารถมีวันลงตัวได้ หลายคู่ก็ตัดสินใจแยกทางกัน และเปลี่ยนสถานภาพจากคู่สามีภรรยาที่ทะเลาะกันตลอดเวลา มาเป็นเพื่อนที่เข้าใจกันมากกว่า เพราะต่างรู้จักกันดี ก็มีหลายคู่นะคะที่เป็นเพื่อนเวิร์คกว่าเป็นคู่รัก ยิ่งถ้ามีลูกที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันแล้ว ยิ่งต้องพิจารณาให้รอบคอบมาก ๆ ว่า พ่อ แม่ ลูก จะมีสัมพันธ์กัน
อย่างไรดี เมื่อพ่อกับแม่ไม่ได้รักกันแบบสามีภรรยากันอีกต่อไปแล้ว แต่ถ้าทนอยู่ด้วยกันต่อก็เหมือนมีชีวิตท่ามกลางสารพิษแห่งความขัดแย้งจนอาจเป็นภาพแห่งความเกลียดชังฝังใจทั้งตัวเองและผู้เกี่ยวข้องได้ การตัดสินใจอย่างมีสติและความชัดเจนในความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในกรณีนี้นะคะ เพราะความเครียดสะสมที่เกิดจากความไม่ชัดเจนอาจไม่คุ้มต่อสุขภาพจิตจนถึงสุขภาพกายในระยะยาวได้ ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจร่วมหอลงโลงกับใครอย่าใจด่วน ตัดสินใจดี ๆ ค่ะ ใช้เวลาในการศึกษากันดี ๆ และอย่าคิดว่าใครเขาจะเปลี่ยนนิสัยได้เพราะแค่เปลี่ยนสถานะจากเพื่อนเป็นแฟน ถ้าใครคิดเช่นนั้น นกบอกเลยว่ามันเป็นความหวังลมๆ แล้ง ที่อาจผิดหวังมาก ๆ ได้หากไม่ได้เตรียมใจดี ๆ
④ ความโดดเดี่ยวฆ่าคนได้
“ความโดดเดี่ยวฆ่าคนได้” ความรู้สึกโดดเดี่ยวเป็นพิษ คนที่รู้สึกแปลกแยกจะไม่มีความสุข ที่สุดก็จะส่งผลไปถึงสุขภาพของพวกเขา และกลายเป็นคนอายุสั้น คู่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่า หรือแม้กระทั่งเพื่อนที่คบกันมาเป็นเวลานานแสนนาน มันก็ต้องมีเวลาที่ความเห็นไม่ตรงกัน มีความขัดแย้งกันบ้าง ความสัมพันธ์ก็ไม่ได้ราบรื่นไร้การทะเลาะซะขนาดนั้น แต่สิ่งที่สำคัญสูงสุดในความสัมพันธ์แบบเป็นสามีภรรยาหรือเพื่อนสนิทนั้น คือทั้งสองฝ่ายต่างมีความมั่นใจว่า ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้น อีกฝ่ายจะไม่ทิ้งกัน เป็นคนที่เราไว้วางใจได้ หากเรามีใครซักคนที่ทำให้ใจเราเชื่อได้เช่นนี้ มันคือความสัมพันธ์ที่มีคุณค่ามาก และนั่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้สุขภาพคุณและเค้าแข็งแรงรวมไปถึงอายุขัยที่ยืนยาวด้วย ส่วนคนที่คบกันและมีแต่ความเจ้าคิดเจ้าแค้น เกลียดชัง และขี้ระแวงนั้น ไม่เวิร์คมาก ๆ นอกจากจะอยู่ด้วยกันอย่างไร้ความสุขแล้ว อายุยังจะสั้นด้วยความเครียดด้วยล่ะค่ะ
แน่นอนว่า เราทุกคนย่อมอยากมีความสัมพันธ์ที่ดีสมบูรณ์แบบ เราไม่สามารถกำหนดมันได้แม้อยากจะให้เป็นดังเราคิด อย่างไรก็ดี ในทุกความสัมพันธ์ย่อมมีจุดด่างพร้อย เพียงแต่ถ้าเรารู้จักเชื่อใจและให้อภัยเป็น เราก็จะพบความสุขที่แท้จริงได้ค่ะ
บทความตอนนี้น่าจะดูแตกต่างจากตอนที่ผ่าน ๆ มาเพราะเป็นแนวจิตวิทยานิด ๆ สุขภาพหน่อย ๆ ถ้าชอบถ้าถูกใจให้นกนำเสนอบทความในแนวนี้ก็บอกได้นะคะ แวะมาคุยเรื่องสุขภาพกับนกได้ที่แฟนเพจ Facebook: Health Society by Nok Chalida ที่อินสตาแกรม NokHealthSo หรือ Line Official: @HealthSocieity นะคะ และอย่าลืม Subscribe รายการ Health Society by Nok Chalida ทาง YouTube พร้อมชมรายชมรายการ “เฮลท์โซไซตี้” ด้วยกันนะคะ