โปรตีนจากถั่วลันเตา

     ถ้าพูดถึงโปรตีนเราก็มักจะนึกถึงเนื้อสัตว์ อย่างอกไก่ หรือ เวย์โปรตีนที่มีขายในท้องตลาดมากมาย แต่วันนี้นกมีแหล่งโปรตีนที่ดีสำหรับคนรักสุขภาพมาฝากกันค่ะ ซึ่งโปรตีนชนิดนี้ มีคนแพ้น้อยมากๆด้วยนะคะ แถมยังหาได้ง่าย จะเป็นอะไรนั้นต้องอัพเดตกันหน่อย

     ปัจจุบัน ตามท้องตลาดมีโปรตีนหลายชนิด ทั้ง เวย์โปรตีน โปรตีนจากถั่วเหลือง โปรตีนจากข้าวบางชนิด และโปรตีนจากถั่วลันเตา โปรตีนจากถั่วลันเตา เป็นแหล่งโปรตีนที่ดีที่สุด อย่างหนึ่งสำหรับคนรักสุขภาพ ที่ชอบออกกำลังกายเลยทีเดียวค่ะ เพราะนอกจากที่มันจะไม่มีส่วนประกอบของนมวัวและกลูเต็นซึ่งสร้างปัญหาให้ หลาย ๆ คนที่แพ้แล้ว มันยังมีประโยชน์กับสุขภาพของหัวใจของเราด้วยค่ะ และโปรตีนจากถั่วลันเตาถือเป็นโปรตีนที่มีการแพ้น้อยมากๆด้วยนะคะ

ประโยชน์ของโปรตีนจากถั่วลันเตา

➀ ช่วยในการลดน้ำหนัก

     โปรตีนจากถั่วลันเตานั้นสามารถช่วยลดปริมาณฮอร์โมนเกรลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เรารู้สึกหิวได้ค่ะ โดยปกติกระเพาะอาหารของเราจะหลั่งฮอร์โมนเกรลินเวลาท้องว่างเพื่อที่จะไปสั่งสมองว่าเราหิว และให้ไปหาอาหารทานค่ะ แต่เจ้าโปรตีนจากถั่วลันเตานี้มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเกรลิน เราจึงรู้สึกว่ายังอิ่มอยู่และไม่หิว โปรแกรมลดน้ำหนักส่วนมากมักเน้นให้ทานโปรตีน โดยปริมาณโปรตีนที่แนะนำให้ทานคือ 1.5-2.2 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมค่ะ นั่นแปลว่าถ้าเราหนัก 60 กิโลกรัม เราก็ควรทานโปรตีนเป็นปริมาณ 90-132 กรัมต่อวันค่ะ

➁ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

     เป็นความเชื่อที่ผิดที่ว่าโปรตีนจากพืชไม่สามารถเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้ดีเท่ากับโปรตีนจากสัตว์ โดยเราเชื่อว่าความสามารถในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อของโปรตีน จากถั่วลันเตานี้มาจากกรดอะมิโนที่ชื่อ L-arginine ที่พบมากในโปรตีนจากถั่วลันเตามากกว่าโปรตีนจากแหล่งอื่นๆ โดยพบว่ากรดอะมิโนตัวนี้เป็นตัวที่สำคัญมากในการสร้างกล้ามเนื้อซึ่งร่างกายของเราไม่สามารถสร้างได้เอง ต้องได้รับจากแหล่งภายนอกเท่านั้นค่ะ และนอกจากนี้ โปรตีนจากถั่วลันเตามี BCAA สูง BCAA : Branched Chain Amino Acid เป็นกลุ่มของกรดอะมิโน ประกอบไปด้วย กรดอะมิโน 3 ชนิด ได้แก่ ลิวซีน(Leucine) ไอโซลิวซีน(Isoleucine) วาลีน(Valine) จากการศึกษาพบว่า BCAA เป็นตัวช่วยสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีน กระตุ้นการสร้างกล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการเหนื่อยล้า ช่วยในกระบวนการฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่ฉีกขาดระหว่างการออกกำลัง กายด้วย

➂ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไต

     โปรตีนจากถั่วลันเตายังช่วยลดโอกาสการเกิดโรคไตเรื้อรังได้ด้วย โดยในกลุ่มคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไตแล้วพบว่า การที่โปรตีนจากถั่วลันเตาสามารถช่วยลดความดันโลหิตนั้น จะส่งผลดีกับคนไข้กลุ่มนี้ด้วย เนื่องจากผู้ป่วยโรคไต มักมีโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต

➃ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

     อาหารแต่ละชนิดก็มีผลกับระดับน้ำตาลในเลือดต่างๆกันไป การศึกษาจาก University of Toronto’s Department of Nutritional Sciences พบว่า การทานโปรตีนจากถั่วลันเตาไม่ทำให้ความอยากอาหารมากขึ้น และพบว่าระดับน้ำตาลต่ำกว่าปกติ จึงเชื่อว่าโปรตีนจากถั่วลันเตาสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลได้

➄ ช่วยเสริมสร้างสุขภาพหัวใจที่ดี

     ในปีพุทธศักราช 2552 นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดาพบว่าโปรตีนจากถั่วลันเตาสามารถช่วยลดความดันโลหิตในคนที่มีความดันโลหิตสูงได้ โดยการทดลองในหนูพบว่าสามารถลดความดันโลหิตได้ถึง 20% จากการทานโปรตีนจากถั่วลันเตาเพียงแค่ 8 สัปดาห์เท่านั้นค่ะ นอกจากนั้น ก็มีการศึกษาใน American Journal of Epidemiology ว่าการรับประทานโปรตีนจากพืช สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการ เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ด้วยค่ะ


     จริง ๆ แล้ว ถ้าเราสามารถทานอาหารที่ดี มีคุณภาพได้ทุกมื้อ แน่นอนค่ะว่าเราก็จะได้โปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมโดยที่ไม่ต้อง ทานโปรตีนผงหรืออาหารเสริมอะไรเลย แต่ในความเป็นจริง มันยากมากที่เราจะทำแบบนั้นได้เพราะอาหารที่วางขายทั่วไปตาม ท้องตลาดบางทีก็ไม่ได้มีสารอาหารครบถ้วนอย่างที่เราอยากให้เป็น ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบ บางทีก็ไม่เอื้ออำนวยในการทำอาหารเอง หรือไปหาอาหารแบบที่เราต้องการ เพราะฉะนั้น โปรตีนผงจึงเป็นทางออกที่ดี ง่าย และสะดวกในการช่วยเพิ่มปริมาณโปรตีนให้กับเราโดยใช้เวลา เตรียมเพียงแค่นิดเดียวเท่านั้นค่ะ  แวะมาคุยเรื่องสุขภาพกับนกได้ที่แฟนเพจ Facebook: Health Society by Nok Chalida ที่อินสตาแกรม NokHealthSo หรือ Line Official: @HealthSocieity นะคะ และอย่าลืม Subscribe รายการ Health Society by Nok Chalida ทาง YouTube พร้อมชมรายชมรายการ “เฮลท์โซไซตี้” ด้วยกันนะคะ

นางสาวไทยปี 2541 จบปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์การชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รวมถึงสอบผ่านมาตรฐานผู้มีวิชาชีพด้านสุขภาพวิทยาศาสตร์ชะลอวัยจาก American Board Anti-Aging Health Practitioner สถาบัน A4M และปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาเอกด้าน Anti Aging and Regenerative Science ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ติดตามความเห็น
รูปแบบการแจ้งเตือน
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments