ออกกำลังกายมากไปทำร้ายสุขภาพ
การออกกำลังกายนั้นเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราออกกำลังกายมากเกินไป ? ทุกคนต่างเคยได้ยินกันมาตลอดว่าการออกกำลังกายถือเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ แต่นั่นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป เพราะการออกกำลังกายมากเกินไป ยังสามารถทำร้ายร่างกายของเราได้เช่นกัน การใช้กำลังอย่างหักโหม นอกจากจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียแล้ว ยังทำให้ เกิดอาการบาดเจ็บ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ทีเดียว
คุณโหมออกกำลังกายหนักเกินไปหรือเปล่า ?
อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นอาจไม่แสดงออกให้เห็นในทันที แต่ความบอบช้ำจะค่อย ๆ สะสมและแสดงออกมาในท้ายที่สุด ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นอาจจะสายเกินแก้แล้วก็ได้ ฉะนั้นลองมาเช็คตัวเองกันหน่อยดีกว่าว่า คุณโหมออกกำลังกาย หนักเกินไปหรือเปล่า ?
⓪ อัตราการเต้นของหัวใจในขณะพักสูงขึ้นกว่าระดับปกติ
อัตราการเต้นหัวใจโดยทั่วไป จะมีอัตราประมาณ 70 – 90 ครั้งต่อนาที ส่วนนักกีฬาจะมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ระหว่าง 40 – 50 ครั้งต่อนาที ในกรณีที่เราออกกำลังกายมากเกินไป อัตราการเต้นของหัวใจของเราจะเพิ่มมากขึ้นกว่าระดับปกติที่มีอยู่เดิม ซึ่งในกรณีแบบนี้แสดงว่า ร่างกายของเราต้องการเพิ่มเวลาพักผ่อนและลดการออกกำลังกายแบบหักโหมค่ะ
① ภาวะขาดน้ำ
จากการมีเหงื่ออกมากขณะออกกำลังกาย ร่างกายเราจะสูญเสียน้ำและอิเล็กโทรไลต์ ดังนั้นเราจะรู้สึกกระหายน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าหากเราหิวกระหายน้ำมากและบ่อยกว่าปกติ แสดงว่าร่างกายของเรากำลังอยู่ในภาวะขาดน้ำ วิธีแก้ไขคือ ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายนั่นเอง โดยจิบน้ำเป็นระยะๆ และไม่ควรดื่มเข้าไปคราวละมาก ๆ ค่ะ
② รบกวนการนอนหลับ
เราอาจคิดว่าถ้าออกกำลังกายหนักๆติดกัน 2-3 วันจะทำให้นอนหลับทันทีที่ศีรษะแตะหมอน ซึ่งจริงๆแล้วการออกกำลังกายมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับได้ นั่นเป็นเพราะว่า ระบบการผลิตฮอร์โมนในร่างกายถูกกระตุ้น จึงทำให้ทำงานมากเกินไป และการนอนไม่หลับ จะส่งผลต่อระบบการฟื้นฟูร่างกายโดยตรงอีก ด้วยค่ะ
③ รู้สึกเหนื่อยเจ็บกล้ามเนื้อและอ่อนล้าตลอดเวลา
โดยปกติแล้วร่างกายสามารถฟื้นฟูกล้ามเนื้อจากอาการปวดเมื่อยต่างๆ ได้ภายใน 1-2 วันหลังการออกกำลังกาย แต่ถ้าหากว่าเรามีอาการนานกว่านั้น เช่น 4-5 วันหรือเป็นสัปดาห์ สิ่งที่ควรปฏิบัติคือ งดออกกำลังกายสักระยะ เพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้นและซ่อมแซมกล้ามเนื้อส่วนที่สึกหรอ ซึ่งระยะเวลาการออกกำลังกายที่เหมาะสมคือ ออกกำลังให้ได้อย่างน้อย 45 นาที แต่ไม่เกิน 75 นาทีต่อวัน
④ อารมณ์แปรปรวน
การออกกำลังกายมากกว่าปกติ อาจทำให้เรารู้สึกเหนื่อยทั้งทางกายและจิตใจ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เรามีอารมณ์ฉุนเฉียวและแปรปรวนง่าย ไม่ว่าจะซึมเศร้า โกรธ หงุดหงิด และวิตกกังวล ทางที่ดีควรลดความเข้มข้นในการออกกำลังกายลงเพื่อให้สภาพอารมณ์กลับมาสมดุลดังเดิม
⑤ ความอยากอาหารลดลง
ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องดี แต่ไม่ใช่สำหรับการออกกำลังกายหนักๆ แล้วไม่ทานอาหาร เนื่องด้วยร่างกายของเราต้องการพลังงานในการฟื้นฟูสภาพหลังการออกกำลังกาย และถ้าหากสูญเสียความอยากอาหารเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานกว่าปกติ ก็อาจทำให้เกิดสูญเสียมวลกล้ามเนื้อตามไปด้วยค่ะ
⑥ เสียสมาธิง่าย
หลังจากที่คุณออกกำลังหนักๆ เป็นเวลาติดต่อกันนานๆ ร่างกายและสมองของเราจะเต็มไปด้วยความเครียดและกดดันให้ตัวเองต้องออกกำลังหนักขึ้นเรื่อยๆ จึงอาจส่งผลกระทบทำให้เราเสียสมาธิได้ง่ายขึ้น และทำให้เราทำสิ่งต่างๆ ได้น้อยลง ไม่ว่าเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันของตัวเองหรือในระหว่าง การออกกำลังกายก็ตาม
⑦ ประจำเดือนขาดหายไป
หากออกกำลังกายหนักมากเกินไป อาจทำให้ไขมันในร่างกายลดต่ำลงถึงขีดสุด และส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนเพศ เช่น เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน ซึ่งจะทำให้คุณผู้หญิงเกิดภาวะขาดประจำเดือนได้ ซึ่งก็จะส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างอื่นตามมาได้อีก เช่น กระดูกพรุน ภาวะมีบุตรยาก และการเหี่ยวย่นของผิวหนัง
⑧ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
การหักโหมออกกำลังกายมากเกินไปนอกจากจะทำให้อาการบาดเจ็บรุนแรงขึ้นแล้ว ยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลงด้วย ทั้งนี้เนื่องมาจากระดับสารกลูตามิน หนึ่งในสารสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันลดน้อยลง ทำให้ร่างกายเราป่วยบ่อยขึ้นได้ค่ะ
การที่เราหักโหมออกกำลังกายไม่ว่าจะมีเป้าหมายในการลดน้ำหนัก สร้างกล้ามเนื้อ กระชับสัดส่วนหรืออะไรก็ตาม ถ้าทำมากเกินไปเป้าหมายต่างๆ เหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และยังส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งกายและใจด้วย เพราะฉะนั้นเราควรออกกำลังกายในระดับปานกลางและเลือกชนิดการออกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย อายุ และสมรรถภาพร่างกายของเราแต่ละคนนะคะ
แวะมาคุยเรื่องสุขภาพกับนกได้ที่แฟนเพจ Facebook: Health Society by Nok Chalida ที่อินสตาแกรม NokHealthSo หรือ Line Official: @HealthSocieity นะคะ และอย่าลืม Subscribe รายการ Health Society by Nok Chalida ทาง YouTube พร้อมชมรายชมรายการ “เฮลท์โซไซตี้” ด้วยกันนะคะ