ร่างกายคุณ มีโลหะหนักอยู่หรือเปล่า!
คุณผู้อ่านคุ้นเคยกับคำว่า โลหะหนัก ปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่เรารับประทานมั้ยคะ แม้เคยได้ยินมาบ้างแต่ถ้ายังมีความสงสัยว่าเข้าไปปนเปื้อนได้ยังไง วันนี้นกจะมาไขข้อข้องใจกัน และมาเช็คกันว่า ร่างกายคุณมีโลหะหนักอยู่รึป่าว ?
ปัจจุบันพบว่าโลหะหนักที่อยู่ในร่างกายเรา แม้ว่าจะมีปริมาณเพียงเล็กน้อยในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดพิษ แต่ก็สามารถทำให้เกิดผลเสียหายต่อร่างกายหลายประการได้
ก่อนอื่นมารู้จักความหมายของโลหะหนักกันก่อนนะคะ โลหะหนัก หมายถึง ธาตุที่มีน้ำหนักมากกว่าน้ำ 5 เท่า หรือมีความถ่วงจำเพาะตั้งแต่ 5 ขึ้นไป เช่น ตะกั่ว ปรอท สารหนู แคดเมียม โคบอลต์ เป็นต้น
เราได้รับสารโลหะหนักเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไรบ้าง ?
“การกิน” เป็นช่องทางที่โลหะหนักสามารถเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้มากที่สุด โดยเราทานอาหาร และน้ำดื่มที่ใช้ภาชนะ ที่มีการปนเปื้อนของโลหะหนัก ในกระบวนการผลิต หรือวัตถุดิบเองมีโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ เช่น ข้าวที่ปลูกในแหล่งใกล้เหมืองแร่ พืชผักผลไม้ กุ้ง หอย ปู ปลา นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ช่องทาง คือการสูดดมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ, การซึมเข้าสู่ผิวหนัง และเนื้อเยื่อซึ่งสารพิษเหล่านี้เมื่อสะสมอยู่ในร่างกาย จนถึงระดับหนึ่งก็จะแสดง อาการออกมาให้เห็น
พิษของโลหะหนักในสิ่งมีชีวิต
ผลของความเป็นพิษของโลหะหนักในสิ่งมีชีวิต เกิดจากกลไกต่าง ๆ ดังนี้ค่ะ
➀ โลหะหนักเข้าไปแย่งการทำงานของแร่ธาตุจำเป็นในร่างกาย ทำให้ปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แร่ธาตุนั้น สูญเสียหน้าที่ หรือหยุดทำงานไป
➁ สารโลหะหนักเพิ่มการสร้างอนุมูลอิสระ โดยทำปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย ก่อให้เกิดสารอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้น
➂ สารโลหะหนักลดระดับของสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้น
➃ สารโลหะหนักขัดขวางตัวรับฮอร์โมน จึงส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนต่างๆผิดปกติ
➄ สารโลหะหนักเกือบทั้งหมด มีผลต่อภูมิต้านทานของร่างกาย ทำให้ภูมิต้านทานร่างกายต่ำ ก่อให้เกิดโรคได้ง่าย
➅ โลหะหนักเป็นพิษโดยตรงต่อผนังเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้ผนังเซลล์สูญเสียความแข็งแรง เซลล์ก็จะแตกเปราะง่าย กลายเป็นโรคซีดได้
➆ โลหะหนักตกค้างที่ผนังเซลล์หลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น เสี่ยงต่อการตีบตัน แตก เป็นปัจจัยหลักที่ก่อโรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต
➇ สารโลหะหนักบางชนิด เช่น ตะกั่ว เข้าไปแทนที่ขบวนการของแร่ธาตุ โดยตะกั่วเข้าไปแทนที่แคลเซี่ยม ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน กระดูกหักได้ง่าย สารโลหะหนักที่ปนเปื้อนมากับอาหาร สารถทำลายแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในลำไส้ ส่งผลให้สมดุลของจุลชีพในลำไส้แปรเปลี่ยนไป และอาจเป็นสาเหตุของภาวะลำไส้รั่ว หรือ Leaky Gut Syndrome
➈ สารโลหะหนักส่งผลให้เลือดมีความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้น จะมีการดึงแคลเซี่ยมออกมาจาก ที่สะสมไว้ในกระดูก อาจส่งผลในระยะยาวต่อความหนาแน่นมวลกระดูกได้
➉ สารโลหะหนักผ่านรกได้ง่ายมาก และผ่านเข้าไปในต่อมน้ำนมในการผลิตน้ำนมแม่ได้ ซึ่งส่งผลเสียต่อสมองและระบบประสาทที่กำลังเจริญเติบโต และยังไม่แข็งแรงของทารกได้ง่าย
⑪ สารโลหะหนัก ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ DNA และ RNA ทำให้เซลล์ต่าง ๆ จึงหยุดการทำงาน อวัยวะก็ค่อย ๆ เสียหน้าที่ไป
สรุปก็คือ สารโลหะหนักสามารถก่อพิษทั้งแบบเฉียบพลัน เมื่อได้รับเข้าไปในปริมาณมาก ๆ หรือค่อย ๆ สะสมเข้าไปในร่างกายทีละน้อยๆ และก่อให้เกิดพิษแบบเรื้อรัง โดยที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน ว่าเกี่ยวข้องกับการรับสารโลหะหนักเข้ามาทีละน้อย และหากเราอยากรู้ว่าร่างกายเรามีสารพิษโลหะหนักหรือไม่ เราสามารถไปปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับการตรวจระดับโลหะหนัก ซึ่งสามารถตรวจวัดได้จากเลือดหรือปัสสาวะค่ะ
แวะมาคุยเรื่องสุขภาพกับนกได้ที่แฟนเพจ Facebook: Health Society by Nok Chalida ที่อินสตาแกรม NokHealthSo หรือ Line Official: @HealthSocieity นะคะ และอย่าลืม Subscribe รายการ Health Society by Nok Chalida ทาง YouTube พร้อมชมรายชมรายการ “เฮลท์โซไซตี้” ด้วยกันนะคะ