“ถั่วฝักยาวดิบ” อันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม
สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกท่าน นกเชื่อว่าคนรักสุขภาพอย่างเราต้องชอบทานผักสดหลายอย่างแน่ ๆ เพราะผักดีต่อสุขภาพ ช่วยให้เราขับถ่ายสะดวกด้วยนะคะ แต่ทราบมั๊ยคะว่า มีเจ้าผักหนึ่งชนิดที่คนไทยคุ้นเคยอย่างมากอยู่ในอาหารประจำชาติเราก็คือส้มตำนั่นเอง มันมาเป็นผักเคียงข้างลาบไก่ และอีกหลายๆจานอร่อย แต่ถ้าทานดิบมันจะมีมีโทษมากกว่าให้ผลดี ทราบหรือยังคะว่า นกพูดถึงผักอะไร ?
“ถั่วฝักยาว” เป็นผักอีกหนึ่งชนิดที่เรามักจะคุ้นหน้าคุ้นตา กันแทบทุกเมนูอาหาร ไม่ว่าจะนำมารับประทานแบบสุก เช่น ผัดพริกแกงใส่ถั่วฝักยาว นอกจากนั้นยังนิยมนำมารับประทานเป็นผักเคียง เพิ่มความกรุบกรอบและสดชื่นให้กับอาหาร ทั้งเมนูลาบ ส้มตำ หรือขนมจีนน้ำยา เรียกได้ว่า “ถั่วฝักยาว” รับประทานกับอะไรก็อร่อย ยิ่งไปกว่านั้นถั่วฝักยาวยังประกอบไปด้วยสารอาหารหลายชนิด ทั้งวิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัสและโปรตีนซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญต่อร่างกาย
ภัยของการรับประทานถั่วฝักยาว
อย่างไรก็ตามแม้ว่า “ถั่วฝักยาว” จะมีรสชาติอร่อยและเต็มไปด้วยคุณประโยชน์ แต่ที่ผ่านมาก็ได้มีองค์กรหลายๆ องค์กรออกมาเตือนถึงโทษภัยของการรับประทานถั่วฝักยาว โดยเฉพาะรับประทานแบบสดหรือแบบดิบอยู่หลายครั้ง ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ แบ่งได้เป็น 4 ข้อดังนี้
➀ ทำให้ท้องอืด
ปกติคนไทยจะนิยมรับประทานถั่วฝักยาวดิบมากกว่า นอกจากรสชาติจะไม่ขมแล้ว ยังมีความกรุบกรอบทานได้ไม่เบื่อ แต่ในความเป็นจริง ถั่วฝักยาวดิบมีแก๊สอยู่ค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือมีเทน ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เกิดกรดเกินในกระเพาะอาหาร หรือท้องอืดได้ ดังนั้นควรรับประทานแต่พอดีหรือนำไปผ่านความร้อนให้สุกเสียก่อน
นกขอแนะนำว่าควรนำถั่วฝักยาวไปลวกก่อนทานก็จะดีกว่าทานดิบๆ นะคะ หรือกินผักกรุบกรอบอื่นไปเลย เช่นแตงกวา แครอท แช่น้ำเย็นๆ ให้กรอบอร่อย
➁ เกิดอาการท้องเสียได้
ในถั่วฝักยาวจะมี “ไกลโคโปรตีน และเลคติน” อยู่ค่อนข้างมากโดยสารดังกล่าวมีส่วนทำให้เกิดอาการวิงเวียน และคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง จากการวิจัยขององค์การอาหารและยา แห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกมาระบุว่า การรับประทานถั่วฝักยาว (รวมไปถึงถั่วดำและถั่วแดง) แบบดิบๆ จะเพิ่มความเสี่ยงในการแพ้อาหาร และทำให้มีอาการท้องเสียรุนแรงร่วมด้วย
วิธีแก้ปัญหานกว่าควรนำเอาถั่วฝักยาวไปต้ม ผัด แกง ทอด ได้ตั้งหลายเมนู เช่นแกงไตปลาก็ต้มและแกงถั่วฝักยาวในคราวเดียวกันได้ ผัดพริกขิงก็ผัดถั่วฝักยาวให้สุกซะก่อน ทอดถั่วฝักยาวก็ทอดมันไงค่ะ ครีเอทเมนูง่ายจะตาย อร่อยกว่ากินดิบ ๆ ตั้งเยอะ
➂ เป็นสาเหตุของลำไส้อุดตัน
ถั่วฝักยาวดิบจะมีผนังเซลล์ค่อนข้างเหนียวและแข็งแรง สำหรับผู้สูงอายุบางท่านหากเคี้ยวถั่วฝักยาวไม่แหลก ชิ้นส่วนของถั่วที่ไม่ผ่านการย่อยก็จะไปอุดตันในลำไส้และกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดภาวะลำไส้อักเสบและอุดตัน นอกจากนั้นยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารอีกด้วย นกขอแนะนำให้หั่นถั่วผักยาวแบบซอยละเอียดก่อนปรุง แบบที่เขาใส่ข้าวคลุกกะปินะคะ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้
➃ เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง
จากการสุ่มตรวจของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ Thai – Pan ในปี 2558 ระบุว่าพบสารตกค้างจำพวกยาฆ่าแมลงในถั่วฝักยาวถึง 37.5% หรือสูงสุดเป็นอันดับสอง รองจากกะเพรา โดยยาฆ่าแมลงที่ว่านี้อาจทำให้ผู้บริโภคมีอาการน้ำตาไหล ม่านตาหรี่ หน้าท้องแข็งเกร็งเป็นตะคริว หากตกค้างในร่างกายเป็นจำนวนมากจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
ดังนั้นหากใครที่ชอบรับประทานถั่วฝักยาวต้องล้างทำความสะอาดให้ดี เพื่อลดความรุนแรงของยาฆ่าแมลงและสารพิษอื่นๆ ในกระบวนการเพาะปลูก นกขอแนะนำว่า หากรักจะกินถั่วฝักยาวต้องเลือกแบบออร์กานิคหรือเกษตรอินทรีย์เท่านั้นค่ะ เพราะมันเป็นพืชเศรษฐกิจยังไงเขาก็ฉีดยาฆ่าแมลงอย่างหนักชัวร์
จากโทษของการทานถั่วฝักยาวดิบข้างต้นน่าจะช่วยให้ผู้ที่ชื่นชอบการรับประทาน “ถั่วฝักยาว”หันมาใส่ใจเรื่องของปริมาณการรับประทานและกรรมวิธีในการปรุงหรือประกอบอาหารมากขึ้น การรับประทานถั่วฝักยาวก็จะไม่เป็นอันตรายอีกต่อไป อย่าลืมนำเคล็ดไม่ลับของการรับประทานถั่วฝักยาวไปปรับใช้กันด้วยนะคะ แวะมาคุยเรื่องสุขภาพกับนกได้ที่แฟนเพจ Facebook: Health Society by Nok Chalida ที่อินสตาแกรม NokHealthSo หรือ Line Official: @HealthSocieity นะคะ และอย่าลืม Subscribe รายการ Health Society by Nok Chalida ทาง YouTube พร้อมชมรายชมรายการ “เฮลท์โซไซตี้” ด้วยกันนะคะ