ชอบกินปลาดิบต้องรู้ 6 อาการเสี่ยงที่ร่างกายเราอาจสู้ไม่ได้

     คุณผู้อ่านชอบทานปลาดิบมั้ยคะ ถ้าไปรับประทานที่ต่างประเทศอย่างประเทศญี่ปุ่น นกไม่เถียงเลยค่ะว่า ปลาดิบเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ด้วยความสดของปลา แต่ถ้ามันต้องเดินทางมาไกลถึงที่บ้านเราแล้วเนี่ย คนที่ชอบทานปลาดิบต้องฟังทางนี้ค่ะ เพราะมี 6 อาการเสี่ยงที่ร่างกายเราอาจรับมือไม่ไหว

     คนชอบกินปลาดิบต้องระวัง เพราะร่างกายเรา อาจเจอเข้ากับเชื้อโรค จากปลาดิบได้ จนก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่อร่างกายหลายอย่าง ปลาดิบที่แม้จะเป็นประเพณีการรับประทานอาหารที่เน้นสุขภาพ จากประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อมาเจอสภาพแวดล้อม ในบ้านเราที่มีความร้อนชื้นมากกว่าแดนอาทิตย์อุทัย ปลาดิบสด ๆ ใหม่ ๆ อาจมีพยาธิและเชื้อบางอย่างที่ก่อให้เกิดโรคหรืออาการเสี่ยงดังต่อไปนี้ได้

พยาธิและเชื้อบางอย่างที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคในการเกิดโรค

➀ พยาธิ

     ใครบอกว่าปลาทะเลไม่มีพยาธิก็คงต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ค่ะ เนื่องจากปลาน้ำเค็มที่นำมาทำปลาดิบนั้นก็อาจมีพยาธิได้ โดยไล่ตั้งแต่พยาธิใบไม้ พยาธิตัวจี๊ด พยาธิตัวกลมหรือในชื่อว่า พยาธิอะนิซาคิส (Anisakis Simplex) ซึ่งพยาธิเหล่านี้จะอยู่รอดและเจริญเติบโตได้ดีในอาหารประเภทสุก ๆ ดิบ ๆ และอาจทำให้เกิดอาการอาเจียน อาจเกิดก้อนทูมในกระเพาะอาหาร ทำให้มีอาการปวดท้อง ปวดกระเพาะอาหาร ลำไส้อุดตัน หรืออาจมีอาการปวดคล้าย ๆ ไส้ติ่งอักเสบ บางรายอาจมีอาการถ่ายออกมาเป็นมูกเลือดภายใน 1 – 5 วันหลังจากรับประทานปลาดิบที่มีพยาธิเหล่านี้เข้าไป หรืออย่างเร็วก็อาจรู้สึกคลื่นไส้อาเจียนหลังจากรับประทาน ปลาดิบไป 1 ชั่วโมง โชคดีสำหรับเราหน่อยว่า ร่างกายคนเราไม่ใช่ที่เหมาะแก่การเติบโตของพยาธิปลาดิบที่มาจากทะเลซักเท่าไหร่ แต่ยังไงก็ตามบางคนก็อาจเจอแจ็คพ๊อตพยาธิปลาทะเลทำพิษได้

➁ ท้องร่วง

     อาหารเป็นพิษ บิด และอหิวาตกโรค ต้องบอกว่าแทบทุกกระบวนการผลิตปลาดิบ ตั้งแต่การจับ การเก็บรักษาปลาดิบ ตลอดจนขั้นตอนเฉือนปลาดิบของพ่อครัวก่อนส่งต่อถึงปากเรา มักจะมีเชื้อโรคตัวเล็กตัวน้อย หลากชนิดติดสอยห้อยตามมาป่วนสุขภาพเราด้วย ซึ่งเจ้าเชื้อโรคและจุลินทรีย์ปนเปื้อนก็มีตั้งแต่เชื้ออีโคไล, เชื้อซาลโมเนลลา, เชื้อวิบริโอ, วิบริโอ คอเลอเร, ลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส, สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส และพยาธิตัวกลมกลุ่มอนินิซาคิส เชื้อเหล่านี้เป็นสาเหตุของอาการอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ท้องเสีย บิด และอหิวาตกโรคได้

➂ อาการคันคอ

     Tingling Throat Syndrome หรือกลุ่มอาการจั๊กจี้ลำคอ ตลอดจนรู้สึกคันคอหอย ที่อาจเกิดเพราะตัวพยาธิเดินทางจากหลอดอาหารมาที่คอหอย

➃ ขาดวิตามิน

     ทำไมแค่กินปลาดิบก็ทำให้ร่างกายเกิดอาการขาดวิตามินได้ คำตอบคือ ในปลาดิบ รวมไปถึงอาหารประเภทสุก ๆ ดิบ ๆ มีสารต้านวิตามินบี 1 หรือเอนไซม์ธัยอะมิเนสอยู่นั่นเองค่ะ ดังนั้นเมื่อเรารับประทานปลาดิบเข้าไปก็อาจเกิดภาวะที่วิตามินบี 1 จะถูกเจ้าสารต้านวิตามินที่ว่าย่อยสลายไปได้

➄ เสี่ยงคอเลสเตอรอล

     โดยเฉพาะคนที่ชอบกินไข่ปลามากเป็นพิเศษ ไข่ปลาอาจมีคอเลสเตอรอลสูง จึงไม่ควรรับประทานไข่ปลาครั้งละมาก ๆ โดยเฉพาะคนที่มีประวัติคอเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว

➅ โรคเกาต์อาจกำเริบ

     ในซูชิหรือปลาดิบก็มีกรดยูริกค่อนข้างสูง อีกทั้งเมื่อกินคู่กับกับโชยุหรือซอสรสเค็มก็อาจทำให้อาการของโรคเกาต์กำเริบได้ง่าย ๆ รวมทั้งคนที่มีแนวโน้มหรือมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็ควร เลี่ยงการรับประทานปลาดิบ ซาซิมิ และซูชิด้วยเช่นกัน

     ทราบข้อมูลอย่างนี้แล้ว ก็เลือกรับประทานปลาดิบกับหน่อยนะคะ… นาน ๆ ทานที… ทานเต็มที่ถ้าเจอแหล่งที่สดใหม่ ปลอดภัยต่อสุขภาพเรา… หรือปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์โดยการกินอาหารที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น!


     แวะมาคุยเรื่องสุขภาพกับนกได้ที่แฟนเพจ Facebook: Health Society by Nok Chalida ที่อินสตาแกรม NokHealthSo หรือ Line Official: @HealthSocieity นะคะ และอย่าลืม Subscribe รายการ Health Society by Nok Chalida ทาง YouTube พร้อมชมรายชมรายการ “เฮลท์โซไซตี้” ด้วยกันนะคะ

นางสาวไทยปี 2541 จบปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์การชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รวมถึงสอบผ่านมาตรฐานผู้มีวิชาชีพด้านสุขภาพวิทยาศาสตร์ชะลอวัยจาก American Board Anti-Aging Health Practitioner สถาบัน A4M และปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาเอกด้าน Anti Aging and Regenerative Science ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ติดตามความเห็น
รูปแบบการแจ้งเตือน
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments