ทำความรู้จักกับ “โรคอ้วน”
การวัดความอ้วนอย่างง่าย ๆ ที่สุดจะแบ่งตามผลของค่า BMI หรือ Body Mass Index ที่เราสามารถคำนวนเองได้ คิดได้ง่าย ๆ ด้วยการนำน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัมตั้งแล้วหารด้วยส่วนสู.หน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง

แต่ว่าค่า BMI นี้ในทางวิทยาศาสตร์ชะลอวัยที่ต้องวัดผลแม่นยำจะไม่ใช้กัน เพราะว่าสรีระของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ชะลอวัยจะวัดความอ้วนกันที่สัดส่วนไขมันในร่างกาย (Percent Body Fat)

สัดส่วนไขมันในร่างกายที่เหมาะสมสำหรับเพศหญิงและเพศชายมีความแตกต่างกันนะคะ ซึ่งสำหรับผู้ชายการมีสัดส่วนไขมันในร่างกายไม่เกิน 20% ถือว่าไม่อ้วน ส่วนสรีระของผู้หญิงควรมีสัดส่วนไขมันในร่างกายไม่เกิน 28%

แต่ถ้าพูดถึงโรคอ้วนในผู้ชายจะเริ่มนับตั้งแต่สัดส่วนไขมันในร่างกายที่สูงกว่า 25% ขึ้นไป และผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนจะวัดสัดส่วนไขมันในร่างกายที่เกินกว่า 32% ขึ้นไป
ฮอร์โมนกับการลดน้ำหนัก
ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความอ้วนนี้มีเยอะมาก แต่ที่สัมพันธ์กับความอ้วนสูงมาก 2 ฮอร์โมนก็คือ ➀ อินซูลิน (Insulin) และ ➁ คอร์ติซอล (Cortisol)
➀ อินซูลิน (Insulin) จะถูกตับอ่อนสร้างขึ้นมาเมื่อเรารับประทานแป้ง น้ำตาล หรือของหวานอะไรต่าง ๆ ที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของเราสูงขึ้น เพื่อจับน้ำตาลในกระแสเลือดเข้ามาเก็บไว้ ที่เราเรียกว่าไขมันตามผิวหนัง คือถ้าเรากินของหวานมาก ๆ ไขมันตามผิวหนังของเราจะหนา
➁ คอร์ติซอล (Cortisol) จะหลั่งออกมาตอนที่เราเครียด ซึ่งฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นเซลที่อยู่ในช่องท้องให้เก็บไขมันเอาไว้ ซี่งเป็นไขมันที่อันตรายมาก ถึงแม้เราจะมีแขนขาที่เล็กก็ตาม ถ้าเรามีไขมันในช่องท้องก็ต้องรีบลดค่ะ เพราะไขมันส่วนนี้ที่ชื่อว่า Visceral Fat จะนำพาเราไปสู่โรคต่าง ๆ ได้
การใช้ยาลดน้ำหนัก
การใช้ยาลดน้ำหนักจะทำให้น้ำหนักของเราลดลงจริงค่ะ แต่เป็นการลดลงบนตาช่างเท่านั้น เพราะสิ่งที่ลดลงไปมีทั้งมวลกล้ามเนื้อ มวลกระดูก ซึ่งการที่น้ำหนักลดด้วยยาลดน้ำหนักนี้จะทำให้ร่างกายของเราสูญเสียของดีไป เป็นการลดน้ำหนักที่ไม่ถูกต้อง หลายครั้งจะมีผลข้างเคียงเกี่ยวกับระบบประสาท ซึมเศร้า และอาจจะรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้เลย
การอดอาหาร
ขึ้นชื่อว่า “อด” แปลว่า “ไม่พอ” เมื่อเกิดความไม่พอปุ๊บร่างกายของเราจะตีความว่าร่างกายของเรากำลังแย่ กำลังจะอดตาย ทำให้ร่างกายจะต้องเก็บไขมันไว้ เพื่อให้ร่างกายของเราอยู่ได้นานที่สุด เมื่อเรากลับมารับประทานอีกครั้งร่างกายก็จะมีการเผาผลาญพลังงานต่ำและสะสมอาหารในรูปไขมันเอาไว้ ทำให้เราอ้วนง่ายขึ้นไปอีก การอดอาหารเพื่อการลดความอ้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งเลยค่ะ
การลดน้ำหนักที่ถูกต้อง
ในมุมมองของอาจารย์สุเมธเกี่ยวกับการลดน้ำหนักที่ถูกวิธีก็เพียงทำให้พลังงานที่เรารับเข้าไปในร่างกายกับพลังงานที่เราต้องใช้งานให้สมดุลกัน ซึ่งหากเราต้องการลดน้ำหนักก็ต้องทำให้พลังงานขาเข้าน้อยกว่าพลังงานที่เราใช้ หรืออีกมุมคือให้เราใช้พลังงานให้มากกว่าที่เรารับเข้ามา ซึ่งถ่าคิดเป็นตัวเลขง่าย ๆ สำหรับการใช้ชีวิตทั่วไปก็ต้องห่างกันประมาณ 300 – 500 กิโลแคลอรี่ ไม่ควรเกิดกว่านี้นะคะ เพราะว่าถ้ามากกว่านี้ร่างกายจะมองว่าเราอดอยากและเริ่มสะสมไขมันและทำให้การลดน้ำหนักของเราไม่ได้ผล ให้เราค่อย ๆ ทยอยให้พลังงานออกไปจากร่างกายของเราเพียงเท่านี้เราก็จะสามารถลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วค่ะ