ภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome)
ในวันนี้เราจะมาคุยกันอีกเรื่องที่คนให้ความสนใจกันมาก (โดยที่อาจจะไม่รู้ตัว) อย่างเรื่อง “Metabolic Syndrome” หรือที่เรียกว่าภาวะอ้วนลงพุงที่มักจะเป็นสาเหตุให้เกิดความดัน เบาหวาน หัวใจ มะเร็ง ถุงลมโป่งพอง ที่เรียกรวมโรคเหล่านี้กันว่า “โรคที่ไม่ติดต่อ”
ลักษณะของภาวะอ้วนลงพุง
ภาวะอ้วนลงพุงเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญนะคะ เพราะเราไม่ได้แค่อ้วนเฉย ๆ แต่ความอ้วนนี้จะทำให้เราเกิดโรคทั้งชุดรวมกันตามมา อย่างโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง อินซูลินในเลือดสูง เรามาดูกันค่ะว่าเรามีลักษณะเป็นคนอ้วนลงพุงหรือไม่
➀ ขนาดรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตรสำหรับผู้ชาย หรือเกิน 80 เซนติเมตรสำหรับผู้หญิง
➁ ความดันโลหิตสูงกว่า 130-85
➂ น้ำตาลในเลือดเกิน 100
➃ไตรกลีเซอไรด์เกิน 150
องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ากลุ่มโรคไม่ติดต่อเหล่านี้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในประชากรโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งของสาเหตุอื่น ยังไม่รวมกลุ่มที่ยังไม่เสียชีวิตที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติด้วยค่ะ
วิธีการป้องกันไม่ให้เกิด Metabolic Syndrome
ขั้นต้นของการป้องกันกลุ่มโรค Metabolic Syndrome คือเราต้องทำการลดรอบเอวลงให้ได้ อย่างข้อความที่มีการรณรงค์กัน เพื่อลด Visceral Fat ไขมันตัวอันตรายในช่องท้องของเราลงให้มากที่สุด ซึ่งเราจะต้องมีการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย หรือเทคนิคต่าง ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์
ลดพุง = ลดโรค
การดูดไขมัน
แน่นอนว่าหลังจากเราดูดไขมันออกแล้ว (โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น) ไขมันของเราก็จะลดลง แต่ถ้าหากเราไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่างกายก็จะพยายามสร้างไขมันกลับคืนมา

ฉะนั้นใครที่เลือกวิธีการดูดไขมันแล้ว จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราด้วยนะคะ ทั้งเรื่องของความเครียด อาหาร การออกกำลัง กิจวัตรประจำวันของเราตั้งแต่เช้าถึงเย็น ไม่เช่นนั้นอีกไม่นานไขมันก็จะกลับมาอยู่กับเราเหมือนเดิมค่ะ
สุดท้ายนี้นกและอาจารย์สุเมธ คันชิงขอฝากคุณผู้รักสุขภาพทุกท่านไว้อีก 2 ข้อเพื่อให้เราสามารถลดรอบเอวลงได้คือ ➀ รับประทานแค่ 80% หรือเป็นการรับประทานแบบฮาราฮาจิบุ คือเมื่อเรารู้สึกว่ามีอาหารพอเต็มท้องแล้วให้หยุดกิน และ ➁ ให้เราออกกำลังกายจนเป็นนิสัย รู้หลักในการออกกำลังกายอย่างถูกต้อง พร้อมกับความสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราก็ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดภาวะอ้วนลงพุงห่างใกลโรคชุดได้อีกมากเลยค่ะ